วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

วิธีการทางประวัติศาสตร์


ความหมายของประวัติศาสตร์
                ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตของสังคมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แม้ว่าอดีตจะเป็นสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่มนุษย์ในอดีตก็ได้ทิ้งร่องรอยและหลักฐานไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจว่าได้เกิดเหตุการณ์ใดขึ้นบ้างในอดีต สาเหตุที่เกิด รวมทั้งผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

การศึกษาประวัติศาสตร์
                การกระทำต่างๆของมนุษย์ล้วนมีพื้นฐานมาจากการเรียนรู้ประสบการณ์ในอดีต มนุษย์ในอดีตเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยความอยากรู้อยากเห็น มีความสงสัยและต้องการค้นหาความจริงในอดีต เพื่อทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และได้พบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนมักจะมีอิทธิพลหรือส่งผลกระทบต่อเหตุการณ์ที่เกิดติดตามมาภายหลัง นักประวัติศาสตร์จึงต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดช่วงเวลาของเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ เพื่อจะระบุให้ชัดเจนได้ว่าเหตุการณ์ใดเกิดก่อน เหตุการณ์ใดเกิดทีหลัง และเหตุการณ์เหล่านั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไร หรือสืบเนื่องโยงกับความเป็นไปในปัจจุบันหรือไม่และอย่างไรดังนั้น การกำหนดยุคสมัยและปีศักราช จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการศึกษาประวัติศาสตร์
                การศึกษาประวัติศาสตร์ไม่เพียงแต่จะให้ความสำคัญกับการรับรู้เนื้อหาความรู้จากประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ควรจะให้ความสนใจต่อหลักฐานข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ หากเราได้สอบสวนค้นคว้าให้รู้ถึงต้นตอตลอดจนความน่าเชื่อถือของหลักฐาน ก็อาจหาคำตอบให้กับข้อสงสัยของตัวเองได้ และอาจสร้างความรู้ใหม่ ๆ ให้แก่สังคมหรือโลกได้ด้วย การศึกษาประวัติศาสตร์กาจะมีชีวิตชีวา ท้าทายให้ค้นคว้าและวิเคราะห์หาความจริงให้กว้างขวางต่อไป

ความสำคัญของประวัติศาสตร์
1. ประวัติศาสตร์เป็นตัวเชื่อมโยงกาลเวลาต่าง ๆ ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกัน โดยใช้บทเรียนในอดีตมาเป็นประสบการณ์ทำความเข้าใจในปัญหาและปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมในปัจจุบัน พร้อมทั้งทิศทางสู่อนาคตด้วยความมั่นใจ
2. ประวัติศาสตร์สอนให้มนุษย์รู้จักตนเองและสังคมมากขึ้น การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทำให้รู้ปัจจัยเบื้องหลังพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ รู้จุดอ่อน จุดแข็ง ของตนเองและผู้อื่น ทำให้รอบรู้และเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว เกิดความได้เปรียบในการเจรจาติดต่อดังเช่น ตำราพิชัยสงครามซุนหวู่ของจีน กล่าวว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง ซึ่งในปัจจุบันยุทธศาสตร์นี้ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ทั้งในเชิงธุรกิจ การทูต และการเมือง
3. การเรียนรู้อดีตช่วยให้เข้าใจปัญหาต่างๆ ในสังคมปัจจุบันได้ชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้น คนที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ของสังคมหนึ่ง ก็ย่อมจะสามารถจัดการกับปัญหาในสังคมนั้นได้ดีกว่าคนที่มีไม่เคยรับรู้ประสบการณ์จากอดีตเลย
4. ประวัติศาสตร์สอนให้คิดอย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงโดยปราศจากอคติ การฝึกฝนให้รู้จักชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของหลักฐานข้อมูล เป็นการสร้างความสุขุมรอบคอบ ความมีวิจารณญาณและความเที่ยงธรรม

ลำดับความสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์
การตรวจสอบและประเมินหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จำเป็นต้องหาวิธีการที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติจึงมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานออกเป็น 2 อันดับ คือ
1.       หลักฐานชั้นต้น (Primary Sources)  คือหลักร่วมสมัยที่บันทึกไว้โดยผู้เกี่ยวข้องโดยตรงหรือเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเอง
2.       หลักฐานชั้นรอง (Secondary Sources)  คือหลักฐานที่บันทึกขึ้นภายหลังเหตุการณ์โดยการฟังคำบอกเล่าของบุคคลอื่น หรือค้นคว้าจากหลักฐานชั้นต้นเพิ่มเติม
การแบ่งหลักฐานออกเป็นชั้นต้นและชั้นรองก็เพื่อประโยชน์ในการประเมินความน่าเชื่อถือ
ของหลักฐาน เพราะหลักฐานที่บันทึกโดยผู้อยู่ในเหตุการณ์ รู้เห็นข้องเท็จจริงมาด้วยตนเอง ย่อมน่าเชื่อถือกว่าการรับรู้จากผู้อื่น เรื่องราวที่บันทึกขึ้นในสมัยเดียวกันก็ย่อมจะน่าเชื่อถือกว่าเรื่องที่บันทึกหลักเหตุการณ์นับร้อยปีอย่างไรก็ตามยังไม่ควรจะด่วนเชื่อเช่นนั้นทันทีเพราะหลักฐานชั้นต้นก็อาจจะให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนได้เช่นกันผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อาจจะบันทึกผิดพลาดจากความเป็นจริงได้ เพราะความไม่เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริงหรืออาจจงใจปกปิดบิดเบือนความจริงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนหรือพรรคพวก หรืออาจมีจุดประสงค์จะสรรเสริญผู้เป็นนาย ปัดความผิดให้ผู้อื่น ในทางตรงกันข้าม หลักฐานชั้นรองที่บันทึกภายหลังโดยบุคคลนอกเหตุการณ์ อาจจะเสนอเรื่องราวด้วยความเป็นกลางและให้ความจริงที่ถูกต้องน่าเชื่อถือกว่าก็ได้

ประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์
                หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.       หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์ หมายถึง หลักฐานที่เป็นตัวหนังสือ มนุษย์ในแต่ละสังคมได้ทิ้งหลักฐานที่เป็นตัวหนังสือประเภทต่างๆ ไว้มากมาย บนแผ่นศิลา โลหะ ใบลาน กระดาษ หรือผ้าไหม หลักฐานลายลักษณ์ของไทย เช่น จารึก ตำนาน พงศาวดาร จดหมายเหตุ บันทึกความทรงจำ หนังสือพิมพ์ วารสาร กฎหมาย จดหมาย เอกสารราชการ งานวรรณกรรม เละงานนิพนธ์ทางประวัติศาสตร์
2.       หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์  หมายถึง หลักฐานที่ไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นและหลงเหลือตกทอดมาตามกาลเวลา หลักฐานประเภทนี้มีทั้งหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์และหลักฐานสมัยประวัติศาสตร์ ได้แก่
            หลักฐานทางโบราณคดี  ได้แก่ โบราณสถาน เช่น พระราชวัง วัด เจดีย์ กำแพงเมือง คูเมือง และ โบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับหินหรือเปลือกหอย เป็นต้น
            หลักฐานทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม เช่น จิตกรรม ประติมากรรม ปราสาทหิน ปราสาทราชมณเฑียร เรือนไทย พระพุทธรูป เจดีย์ เป็นต้น
            หลักฐานทางนาฏกรรมและดนตรี เช่น เพลงพื้นบ้าน เพลงกล่อมเด็ก ละคร ดนตรี เป็นต้น
            หลักฐานจากขนบธรรมเนียมประเพณีและคติความเชื่อของชนกลุ่มต่าง ๆ
            หลักฐานจากคำบอกเล่า ที่ถ่ายทอดหรือเล่าสืบต่อกันมาและการสัมภาษณ์สอบถามจากบุคคลทั่วไป
            หลักฐานประเภทโสตทัศน์ เช่นภาพถ่าย ภาพถ่ายทางอากาศแผนที่ ภาพยนตร์
หลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นข้อมูลสำคัญที่นักประวัติศาสตร์สามารถนำมาใช้ในการสืบค้นเรื่องราวต่างๆ ในอดีต งานศึกษาทางประวัติศาสตร์ จะพิจารณาจากเวลาที่เริ่มมีหลักฐานประเภทลายลักษณ์เป็นจุดแบ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการศึกษาอดีตในยุคประวัติศาสตร์จะใช้เฉพาะหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์เท่านั้น การใช้หลักฐานอย่างกว้างขวางจะช่วยให้งานศึกษาประวัติศาสตร์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
สำหรับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยนั้น งานเขียนประวัติศาสตร์ไทยเมื่อแรกเริ่มนั้นจารึก ตำนานพงศาวดารซึ่งมีลักษณะการบันทึกแบบบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของศาสนาและพระมหากษัตริย์จนถึงสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยได้รับแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์แบบตะวันตก ที่ให้ความสำคัญในการตรวจสอบหลักฐาน และปล่อยให้หลักฐานบอกความหมายของตัวเอง เป็นพัฒนาการอีกระดับหนึ่งจากการบอกเล่าแบบพงศาวดาร แต่ในด้านเอกสาร หลักฐานยังเน้นที่การเปรียบเทียบพงศาวดารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง โดยเน้นความสำคัญของเมืองและศูนย์รวมอำนาจ
ในปัจจุบัน การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยขยายขอบเขตจากประวัติศาสตร์การเมืองไปศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์สังคม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกันมากขึ้น เป็นความพยายามขยายการศึกษาทุกแง่ทุกมุมในพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต จึงมีการใช้หลักฐานใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์มาก่อน เช่น วรรณกรรม จิตกรรม ภาพถ่าย และคำบอกเล่า ทำให้ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความเป็นอยู่และการทำมาหากินของประชาชนชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้ขยายประวัติศาสตร์ที่เคยมองแต่ราชธานีออกไปยังชนบทอย่างทั่วถึง โดยใช้หลักฐานใหม่ๆ เช่น ภาษาและ วรรณกรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมพื้นเมือง เพลงพื้นบ้าน การใช้หลักฐานที่หลากหลายยิ่งขึ้นทำการศึกษาประวัติศาสตร์ไปเกี่ยวข้องกับศาสตร์สาขาอื่น ๆ มากขึ้นด้วย เช่น ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์โบราณคดีและธรณีวิทยา เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น