หน่วยการเรียนรู้ที่ 2

วัฒนธรรม โดยทั่วไปหมายถึง รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ วิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน
วัฒนธรรมส่วนหนึ่งสามารถแสดงออกผ่าน ดนตรี วรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม การละครและภาพยนตร์ แม้บางครั้งอาจมีผู้กล่าวว่าวัฒนธรรมคือเรื่องที่ว่าด้วยการบริโภคและสินค้าบริโภค เช่น วัฒนธรรมระดับสูง วัฒนธรรมระดับต่ำ วัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือวัฒนธรรมนิยม เป็นต้น แต่นักมานุษยวิทยาโดยทั่วไปมักกล่าวถึงวัฒนธรรมว่า มิได้เป็นเพียงสินค้าบริโภค แต่หมายรวมถึงกระบวนการในการผลิตสินค้าและการให้ความหมายแก่สินค้านั้น ๆ ด้วย ทั้งยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ทางสังคมและแนวการปฏิบัติที่ทำให้วัตถุและกระบวนการผลิตหลอมรวมอยู่ด้วยกัน ในสายตาของนักมานุษยวิทยาจึงรวมไปถึงเทคโนโลยี ศิลปะ วิทยาศาสตร์รวมทั้งระบบศีลธรรม
วัฒนธรรมในภูมิภาคต่าง ๆ อาจได้รับอิทธิพลจากการติดต่อกับภูมิภาคอื่น เช่น การเป็นอาณานิคม การค้าขาย การย้ายถิ่นฐาน การสื่อสารมวลชนและศาสนา อีกทั้งระบบความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนามีบทบาทในวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาโดยตลอด

ประเภทของวัฒนธรรม
วัฒนธรรม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
  • วัฒนธรรมทางวัตถุ คือ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อความสุขทางกาย อันได้แก่ ยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องป้องกันตัวให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง
  • วัฒนธรรมทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ เพื่อให้เกิดปัญญาและมีจิตใจที่งดงาม อันได้แก่ ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม คติธรรม ตลอดจนศิลปะ วรรณคดี และระเบียบแบบแผนของขนบธรรมเนียมประเพณี[1]
นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่มักใช้คำ "วัฒนธรรม" ไปในเชิงของวิสัยสามารถของคนทั่วไปในการบ่งชี้ จัดหมวดหมู่และสื่อถึงประสบการณ์ของตนในลักษณะเชิงสัญลักษณ์ คนเราใช้วิสัยสามารถดังกล่าวสำหรับบ่งชี้เรื่องราวและสิ่งต่างๆ ที่เกิดในหมู่มนุษย์ด้วยกันมานานมากแล้ว อย่างไรก็ตาม นักวานรวิทยาหรือไพรเมตวิทยาก็ได้บ่งชี้ลักษณะวัฒนธรรมดังกล่าวในวานรหรือไพรเมตซึ่งเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีสายพันธุ์ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุดมานานแล้วเช่นกัน[2] และโดยนักโบราณคดีจะมุ่งเฉพาะไปที่วัฒนธรรมที่เป็นเรื่องราวเท่านั้น (ซากเรื่องราวที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์) ขณะเดียวกัน นักมานุษยวิทยาสังคมก็มองไปที่ปฏิสัมพันธ์ของสังคม สถานภาพและสถาบัน ส่วนนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมก็เน้นที่บรรทัดฐานและคุณค่า
การแบ่งแยกแนวกันนี้ แสดงให้เห็นถึงเงื่อนไขที่แตกต่างกันที่ขึ้นอยู่กับงานที่ต่างกันของนักมานุษยวิทยา และความจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นจุดการวิจัยที่ต้องชัดเจน จึงไม่จำเป็นว่าจะเป็นการสะท้อนถึงทฤษฎีของวัฒนธรรมซึ่งย่อมแตกต่างไปตามเชิงของเรื่องราว เชิงสังคม และเชิงบรรทัดฐาน (norm) รวมทั้ง ไม่จำเป็นต้องสะท้อนถึงการแข่งขันกันเองในระหว่างทฤษฎีต่าง ๆ ของวัฒนธรรม

แนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม

คำว่า "วัฒนธรรม" ในภาษาไทย มาจากคำสองคำ คำว่า "วัฒน" จากคำศัพท์ วฑฺฒน" ในภาษาสันสกฤต หมายถึงความเจริญ ส่วนคำว่า "ธรรม" มาจากคำศัพท์ "ธรฺม" ในภาษาสันสกฤต หมายถึงความดี เมื่อนำสองคำมารวมกันจึงได้คำว่า "วัฒนธรรม" หมายถึงความดีอันจะก่อให้เกิดความงอกงามที่เป็นระเบียบเรียบร้อย[3] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของวัฒนธรรมไว้ว่าเป็น "สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามแก่หมู่คณะ, วิถีชีวิตของหมู่คณะ , ในพระราชบัญญัติวัฒนธรรม พ.ศ. 2485 หมายถึงลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชน, ทางวิทยาการ หมายถึงพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่ของตน"[4] แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้นิยามไว้ว่า "สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่นวัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวเขา" คำว่า "วัฒนธรรม" ในภาษาไทยตามความหมายนี้ใกล้เคียงกับคำว่า "อารยธรรม" (ดู #วัฒนธรรมในเชิงของอารยธรรม)ส่วนคำว่า "culture" ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่าวัฒนธรรมนั้น มาจากภาษาละติน คำว่า "cultura" ซึ่งแยกมาจากคำ "colere" ที่แปลว่า การเพาะปลูก[5] ส่วนความหมายทั่วไปในสากล หมายถึงรูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ
มีการกล่าวถึงวัฒนธรรมว่าเป็น "หนทางทั้งหมดแห่งการดำเนินชีวิต" ซึ่งรวมถึงกฎกติกาแห่งกิริยามรรยาท การแต่งกาย ศาสนา พิธีกรรม ปทัสถานแห่งพฤติกรรม เช่น กฎหมายและศีลธรรม ระบบของความเชื่อรวมทั้งศิลปะ เช่น ศิลปะการทำอาหาร[6]
การนิยามที่หลากหลายนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของทฤษฎีที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ หรือทำให้เกิดเกณฑ์เพื่อใช้ในการประเมินกิจกรรมของมนุษย์ โดยในปี พ.ศ. 2414 เอ็ดเวิร์ด เบอร์เนต ไทเลอร์ ได้พรรณนาถึงวัฒนธรรมในมุมมองด้านมานุษยวิทยาสังคม ไว้ว่า "วัฒนธรรม หรือ อารยธรรม หากมองในเชิงชาติพันธุ์วรรณนาอย่างกว้าง ๆ ก็คือ ความทับซ้อนกันระหว่างความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ ศีลธรรม กฎหมาย ประเพณีและสมรรถนะอื่นที่มนุษย์ต้องการแสวงหาเพื่อการเป็นสมาชิกของสังคม"[7]
เมื่อปี พ.ศ. 2543 ยูเนสโก ได้พรรณนาถึงวัฒนธรรมไว้ว่า "...วัฒนธรรมควรได้รับการยอมรับว่าเป็นชุดที่เด่นชัดของจิตวิญญาณ เรื่องราว สติปัญญาและรูปโฉมทางอารมณ์ของสังคม หรือกลุ่มสังคม ซึ่งได้หลอมรวมเพิ่มเติมจากศิลปะ วรรณคดี การดำเนินชีวิต วิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกัน ระบบคุณค่า ประเพณีและความเชื่อ"[8]
ถึงแม้ว่าการนิยามความหมายคำว่า "วัฒนธรรม" ของทั้งสองจะครอบคลุมแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับคำว่า "วัฒนธรรม" ที่มีการใช้กันอยู่ ในปี พ.ศ. 2495 อัลเฟรด ครูเบอร์ และไคลด์ คลักคอห์น ได้รวบรวมนิยามของคำ "วัฒนธรรม" ได้ถึง 164 ความหมาย ซึ่งได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือเรื่อง "วัฒนธรรม: การทบทวนเชิงวิกฤติว่าด้วยมโนทัศน์และนิยาม" (Culture: A Critical Review of Concepts and Definitions)[9]
นิยามดังกล่าวนี้ และอีกหลายนิยามช่วยทำให้เกิดองค์ประกอบของรายการวัฒนธรรม เช่น กฎหมาย เครื่องมือสมัยหิน การแต่งงาน ฯลฯ แต่ละอย่างนี้มีการเกิดและมีความไปเป็นชุดของมันเอง ซึ่งจะเกิดเป็นช่วงเวลาในชุดหนึ่งที่หลอมประสานกันแล้วก็ผ่านออกไปเป็นชุดอย่างอื่น ในขณะที่ยังเป็นชุด มันก็จะเปลี่ยนแปลงไปทำให้เราสามารถพรรณนาได้ถึงวิวัฒนาการของกฎหมาย เครื่องมือฯ และการแต่งงานดังกล่าวได้
ดังนั้น โดยนิยามแล้ว วัฒนธรรมก็คือชุดของเรื่องราวทางวัฒนธรรม นั่นเอง นักมานุษยวิทยาเลสลี ไวท์ ตั้งคำถามไว้ว่า "เรื่องราวเหล่านั้นคืออะไรกันแน่?" เป็นเรื่องราวทางกายภาพหรือ? หรือเป็นเรื่องราวทางจิตใจ ทั้งสองอย่าง? หรือเป็นอุปลักษณ์? ในหนังสือเรื่อง "วิทยาศาสตร์แห่งวัฒนธรรม" (Science Of Culture 2492) ไวท์สรุปว่ามันคือเรื่องราว "sui generis" นั่นคือ การเป็นชนิดของมันเอง ในการนิยามคำว่า ชนิด ไวท์มุ่งไปที่ "การสร้างสัญลักษณ์ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่มีผู้ใดตระหนักถึงมาก่อน ซึ่งเขาเรียกว่า "ซิมโบเลท" (the symbolate) คือ เรื่องราวที่เกิดจากการกระทำที่สร้างสัญลักษณ์ ดังนั้น ไวท์จึงนิยามว่า "วัฒนธรรม คือ ซิมโบเลทในเชิงของบริบทนอกกาย"[10] คำสำคัญของนิยามนี้จึงได้แก่การค้นพบซิมโบเลทนั่นเอง
ในการใฝ่หานิยามที่ใช้การได้ นักทฤษฎีสังคมชื่อ ปีเตอร์ วอลเตอร์ กล่าวง่าย ๆ ว่า วัฒนธรรมเป็น "การแลกเปลี่ยนเค้าร่างของประสบการณ์"[11] ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะ ภาษาศาสตร์ ศิลปะ ศาสนาและอื่น ๆ รวมทั้ง นิยามก่อน ๆ

 วัฒนธรรมในเชิงของอารยธรรม

ในปัจจุบันคนจำนวนมากมีความคิดทางวัฒนธรรมที่พัฒนามาจากวัฒนธรรมของยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ประมาณระหว่าง พ.ศ. 2244พ.ศ. 2373) ซึ่งประมาณได้ว่าตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วัฒนธรรมที่พัฒนาในช่วงระหว่างนี้เน้นถึงความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมในยุโรปเองและในระหว่างประเทศมหาอำนาจกับประเทศอาณานิคมทั่วโลกของตน ใช้ตัวบ่งชี้วัฒนธรรมด้วย "อารยธรรม" แยกความเปรียบต่างของวัฒนธรรมด้วย "ธรรมชาติ" และใช้แนวคิดนี้มาเป็นตัวชี้วัดว่าประเทศหรือชาติใดมีอารยธรรมมากกว่าชาติใด บุคคลใดมีวัฒนธรรมมากน้อยกว่ากัน ดังนั้น จึงมีนักทฤษฎีวัฒนธรรมบางคนพยามยามที่แยกวัฒนธรรมมวลชน หรือวัฒนธรรมนิยมออกจากการนิยามของวัฒนธรรม นักทฤษฎี เช่น แมททิว อาร์โนลด์ (พ.ศ. 2365 - พ.ศ. 2341) มองว่าวัฒนธรรมเป็นเพียง "ความคิดและการพูดที่ดีที่สุดที่ได้เกิดขึ้นมาบนโลก"[12] อาร์โนลด์ได้แยกแยะให้เห็นความแตกต่างของวัฒนธรรมมวลชนกับความวุ่นวายในสังคมและอนาธิปไตย ในแนวนี้วัฒนธรรมจะเชื่อมโยงเป็นอย่างมากกับการงอกงามของวัฒนธรรม นั่นคือ การปรุงแต่งที่ก้าวไปข้างหน้าของพฤติกรรมมนุษย์ อาร์โนลด์เน้นการใช้คำนี้อย่างคงเส้นคงวา ว่า "...วัฒนธรรม คือ การไล่ตามหาความสมบูรณ์สุดยอดด้วยการเรียนรู้ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรา นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่ได้รับการคิดและพูดขึ้นในโลก"[12]

ในทางปฏิบัติ วัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับกิจกรรมชั้นสูง เช่นพิพิธภัณฑ์ประเทืองปัญญา ศิลปะและดนตรีคลาสสิก และยังเป็นคำที่พรรณนาถึงผู้รู้และการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้ นี่คือ กิจกรรมที่เรียกว่า "วัฒนธรรมขั้นสูง" เป็นวัฒนธรรมของสังคมกลุ่มชนชั้นกุมอำนาจ[13] ทั้งนี้เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างกับ "วัฒนธรรมมวลชน" หรือ "วัฒนธรรมประชานิยม"
นับจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา (พ.ศ. 2344) นักวิจารณ์สังคมเริ่มยอมรับถึงความแตกต่างของ "วัฒนธรรมสูงสุด" และ "วัฒนธรรมต่ำสุด" ดังกล่าวมาแล้ว แต่ก็ได้ย้ำให้เห็นถึงการปรุงแต่งและความละเอียดซับซ้อนว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีการพัฒนาที่วิบัติและไม่เป็นธรรมชาติ บดบังและบิดเบือนความเป็นธรรมชาติแท้ของมนุษย์ และในแง่นี้ ดนตรีพื้นบ้าน (ที่แต่งโดยชนชั้นแรงงาน) แสดงออกอย่างเปิดเผยหมดเปลือกถึงวิถีการดำรงชีวิตที่เป็นจริง และว่าดนตรีคลาสสิกดูเป็นเปลือกผิวเผินและกำลังถดถอยลงในแง่การดำรงชีวิตจริง และก็เช่นเดียวกัน มุมมองนี้ได้พรรณาให้เห็นถึงคนพื้นเมืองในฐานะของ "คนเถื่อนใจธรรม" (Noble savage) ที่ดำรงชีวิตอย่างไร้มลทิน ไม่ประณีตซับซ้อนและไม่วิบัติจากระบบชนชั้นนายทุนของโลกตะวันตก
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สังคมได้ปฏิเสธแนวคิดของ "วัฒนธรรมเชิงเอกภาค" (monadic culture) และสังคมที่ตรงข้ามกับธรรมชาติ พวกเขายอมรับวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัฒนธรรมชั้นสูงสุดยอดว่าดีเท่า ๆ กับวัฒนธรรมสุดยอด (รับว่าวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตกมีอารยธรรมเท่าเทียมกัน และมองว่าเป็นวัฒนธรรมเหมือนกันแต่เป็นคนละแบบ ดังนั้น นักสังเกตการณ์วัฒนธรรมจึงแยกความแตกต่างของวัฒนธรรมขั้นสูงของคนชั้นสูงกับวัฒนธรรมประชานิยมว่าหมายถึง สินค้าและกิจกรรมที่ผลิตเพื่อวัฒนธรรมและบริโภคโดยมวลชน (เป็นที่น่าสังเกตด้วยเช่นว่าบางคนจำแนกวัฒนธรรมทั้งสูงและต่ำว่าเป็นวัฒนธรรมย่อย (subculture)

 วัฒนธรรมในมุมมองของโลก

ในยุคโรแมนติก ผู้รอบรู้ในเยอรมัน โดยเฉพาะผู้ห่วงใยใน "ขบวนการรักชาติ" เช่น ขบวนการรักชาติที่พยายามก่อตั้งประเทศเยอรมันจากรัฐต่าง ๆ ที่ต่างก็มีเจ้าครองนครอยู่แล้ว และกลุ่มผู้รักชาติที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่พยายามต่อต้านจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี พวกเหล่านี้มีส่วนช่วยพัฒนาหัวเรื่องวัฒนธรรมมาสู่ "มุมมองของโลก" มากขึ้น ในกรอบแนวคิดลักษณะนี้ มุมมองโลกที่พุ่งไปสู่การจำแนกลักษณะของกลุ่มชาติพันธุ์ มีความชัดเจนขึ้นและไม่ให้ความสำคัญของขนาดกลุ่มชน แม้จะเป็นแนวคิดที่กว้างขึ้นแต่ก็ยังคงเห็นว่ายังการแบ่งความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม "อารยธรรม" และ วัฒนธรรม "ดั้งเดิม" หรือ วัฒนธรรม "ชนเผ่า" อยู่
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ประมาณ พ.ศ. 2420) นักมานุษยวิทยา ได้ยอมรับและปรับวัฒนธรรม ให้มีนิยามที่กว้างขึ้นให้ประยุกต์ได้กับสังคมต่าง ๆ ที่หลากหลายได้มากขึ้น เอาใจใส่ให้ความสนใจกับทฤษฎีของวิวัฒนาการมากขึ้น มีการอนุมาณว่ามนุษย์ทั้งปวงวิวัฒนาการมาเท่าเทียมกัน และมนุษย์ที่มีวัฒนธรรมจะต้องเป็นผลมาจากวิวัฒนาการอย่างใดอย่างหนึ่ง มีการแสดงถึงความลังเลที่จะใช้วิวัฒนาการทางชีววิทยามาใช้อธิบายความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะที่ต่างกัน ซึ่งเป็นแนวที่เป็นการแสดงรูปแบบหรือส่วนหนึ่งของสังคมเปรียบเทียบกับอีกสังคมโดยรวม และแสดงให้เห็นกระบวนการครอบงำ และกระบวนการต่อต้าน
ในช่วง พ.ศ. 2494พ.ศ. 2503 ได้เริ่มมีการยกเอา "กลุ่มวัฒนธรรมย่อย" ที่มีลักษณะเด่นเฉพาะที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่ใหญ่กว่ามาเป็นหัวข้อการศึกษาโดยนักสังคมวิทยา ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2444พ.ศ. 2543) ได้เกิดแนวคิดที่เรียกว่า "วัฒนธรรมบรรษัท" (corporate culture) ที่เด่นชัดเกี่ยวกับบริบทของการจ้างงานในองค์การหรือในที่ทำงานขึ้น

วัฒนธรรมในเชิงสัญลักษณ์


ในมุมมองเชิงสัญลักษณ์ของวัฒนธรรม ผลงานของคลิฟฟอร์ด เกียรซ์ (พ.ศ. 2516) และวิกเตอร์ เทอร์เนอร์ (พ.ศ. 2510) ได้หยิบยกสัญลักษณ์ว่าเป็นทั้งการกระทำของ "นักแสดง" ในสังคมและบริบทที่ทำให้การแสดงนั้นมีความหมาย แอนโทนี พี โคเฮน (พ.ศ. 2528) เขียนถึง "เคลือบเงาสัญลักษณ์" (Symbolic gloss) ว่าเป็นตัวช่วยให้ผู้แสดงทางสังคมสามารถใช้สัญลักษณ์ทั่ว ๆ ไปสื่อและทำความเข้าใจระหว่างกันในขณะที่ยังคงรักษาสัญลักษณ์เหล่านั้นให้คงอยู่กับความสำคัญและความหมายส่วนบุคคลไว้ได้[14] สัญลักษณ์ช่วยจำกัดขอบเขตความคิดทางวัฒนธรรม สมาชิกของวัฒนธรรมต้องพึ่งพิงสัญลักษณ์เมื่อจะต้องวางกรอบความคิดและการแสดงออกทางปัญญาของตน
โดยสรุป สัญลักษณ์ทำให้วัฒนธรรมมีความเป็นไปได้ แพร่หลาย และอ่านได้ง่าย สัญลักษณ์เป็น "สายใยแห่งความมีนัย" (webs of significance) " เป็นตัวทำให้ "ความเป็นปกติ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความเป็นระบบ" เกิดขึ้นในกลุ่ม ดังตัวอย่างของ วลีที่ใช้มากจนเบื่อหู (Stock phrase หรือ Cliché)[15] ข้างล่างนี้
"หยุดเดี๋ยวนี้ ในนามของกฎหมาย!" - คำพูดที่มาจากบทที่นายอำเภอหรือผู้รักษากฎหมายใช้ในภาพยนตร์คาวบอยอเมริกัน
กฎหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อย – อเมริกัน
สันติภาพและความเป็นระเบียบเรียบร้อย – ฟิลิปปินส์
ประชาชนต้องมาก่อน - ไทย[16]

วัฒนธรรมในเชิงของกลไกสร้างเสถียรภาพ

ทฤษฎีวัฒนธรรมใหม่พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ว่าตัววัฒนธรรมเองเป็นผลิตผลของแนวโน้มของเสถียรภาพที่ตกทอดมาจากแรงกดดันของวิวัฒนาการที่มีผลไปถึงความคล้ายของตนเองและยอมรับตนเองในสังคมโดยรวม ที่เรียกว่า "เผ่าชนนิยม" (Tribalism)

 วัฒนธรรมและวิวัฒนาการทางจิตวิทยา

นักวิจัยด้าน "จิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการ" โต้เถียงกันว่า จิต คือหน่วยสะสางระบบของการรับรู้ข้อมูลทางประสาทที่เกิดจากการคัดเลือกทางพันธุกรรมเพื่อปรับใช้ในการแก้ปัญหาของบรรพบุรุษนานมาแล้ว นักจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการมีความเห็นว่า ความหลากหลายของรูปแบบที่วัฒนธรรมของมนุษย์รับไว้นั้นถูกกีดขวางไว้ด้วยกลไกของกระบวนการประมวลข้อมูลที่ฝังอยู่ในพฤติกรรมของเรา[17] ซึ่งรวมถึง
หน่วยมาตรฐานแห่งการรับภาษา
กลไกในการหลีกเลี่ยงการสมสู่กับญาติสนิท
กลไกในการตรวจจับกลโกง
ความพึงใจในการเลือกคู่กับความมีเชาว์ปัญญา
กลไกในการเที่ยวค้นหา
กลไกในการหาพวก
กลไกในการตรวจหาตัวแทน
ความกลัวและกลไกในการปกป้อง (กลไกในการเอาชีวิตรอด)
กลไกเหล่านี้ได้รับการวางให้เป็นทฤษฎีเพือใช้เป็นพื้นฐานทางจิตวิทยาของวัฒนธรรม เพื่อความเข้าใจคำว่าวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง เราจะต้องมีความเข้าใจในเงื่อนไขทางชีววิทยาของความเป็นไปได้เสียก่อน

 วัฒนธรรมภายในสังคม

สังคมขนาดใหญ่มักมี วัฒนธรรมย่อย หรือกลุ่มของคนที่มีพฤติกรรมและความเชื่อที่แปลกไปจากสังคมใหญ่โดยรวมของตน วัฒนธรรมย่อยอาจเด่นจากอายุของสมาชิกกลุ่มหรือโดยเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ชั้นทางสังคมหรือเพศ คุณลักษณะที่เป็นตัวบ่งบอกลักษณะของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยอาจเป็น สุนทรียภาพ ศาสนา อาชีพ การเมือง เพศ หรือความสำคัญขององค์ประกอบเหล่านี้
แนวทางที่ใช้ปฏิบัติกับกลุ่มต่างด้าวและวัฒนธรรมของพวกเขามี 4 ทาง ได้แก่
  • เอกวัฒนธรรมนิยม (Monoculturalism) : ในประเทศยุโรปบางประเทศ วัฒนธรรมมีความผูกพันอย่างแนบแน่นกับลัทธิชาตินิยม ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลจึงใช้วิธีดูดกลืนคนต่างด้าว แต่การเพิ่มขึ้นของการย้ายถิ่นฐานในช่วงไม่นานมานี้ ทำให้หลายประเทศเริ่มหันไปใช้แนวทาง "อเนกวัฒนธรรมนิยม" บ้างแล้ว
  • วัฒนธรรมแกนกลาง (Leitkultur หรือ core culture) : เป็นแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นในประเทศเยอรมันเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยบาสซาม ไทไบ แนวคิดนี้ก็คือชนกลุ่มน้อยสามารถมีเอกลักษณ์ของตนเองได้ แต่อย่างน้อยต้องสนับสนุนแนวคิดที่เป็นแกนกลางของวัฒนธรรมที่กลุ่มตนร่วมเป็นส่วนอยู่
  • หม้อหลอมละลาย (Melting Pot) : ในสหรัฐฯ มุมมองที่ถือปฏิบัติกันได้แก่การเป็นหม้อหลอมละลาย เป็นที่ซึ่งวัฒนธรรมของต่างด้าวที่ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่หลอมรวมและผสมผสานกันโดยรัฐไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย
  • อเนกวัฒนธรรมนิยม (Multiculturalism) : ได้แก่นโยบายที่คนต่างด้าวที่ย้ายถิ่นเข้ามาใหม่ พึงสงวนรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไว้ร่วมกันวัฒนธรรมอื่นและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสันติ
วิธีการที่รัฐดำเนินการกับวัฒนธรรมของกลุ่มต่างด้าวผู้ย้ายถิ่นมักไม่ตกอยู่ในแนวทางปฏิบัติอันใดอันหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ระดับความแตกต่างของวัฒนธรรมย่อยกับวัฒนธรรมเจ้าถิ่น จำนวนผู้ย้ายถิ่นเข้า ทัศนคติของประชากรที่มีอยู่เดิม ประเภทของนโยบายของรัฐที่ใช้และผลสัมฤทธิ์ของนโยบายเหล่านี้ ประกอบกันทำให้ยากที่จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นแบบทั่วไปได้ เช่นเดียวกันกับวัฒนธรรมย่อยอื่น ๆ ภายในสังคม ทัศนคติที่เป็นกระแสรวมของประชากรและการสื่อความระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ ด้วยกันล้วนมีอิทธิพลมากในผลลัพธ์ที่ได้ออกมา การศึกษาวัฒนธรรมต่าง ๆ ในสังคมหนึ่งเป็นเรื่องซับซ้อนซึ่งการการวิจัยที่ขึ้นอยู่กับตัวแปรที่มากมายหลายหลาก